







นายธนาวุฒิ กาไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลอย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ประธานสภา อบต.,รองประธานสภา อบต.สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลอยทุกท่าน พร้อมด้วย พนักงานส่วนตำบลและเจ้าหน้าที่ ร่วมโครงการส่งเสริมประเพณีสลากภัตตำบลแม่ลอย ประจำปี 2567 ณ วัดแม่ลอยไร่ (ไชยพรหม) ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
สำหรับปัจจุบันประเพณีตานก๋วยสลาก หรือสลากภัต ยังคงมีการสืบทอดให้ได้เห็นอยู่บ้างทางภาคเหนือของประเทศไทยในหลายจังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เป็นต้น ซึ่งนิยมจัดกัน ๒ วัน คือ วันแรกก่อนทำพิธีตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่า “วันดา” เป็นวันจัดเตรียมเครื่องไทยทานต่างๆ ที่จะถวายพระสงฆ์ โดยผู้ชายจะช่วยกันจักตอกสานก๋วย (ตระกร้า) ไว้หลายๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์ ฝ่ายผู้หญิงก็จะจัดเตรียมห่อของที่จะนำไปถวายลงในก๋วย เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้าขนมข้าวต้ม และอาหาร เช่น ห่อหมก (ทางเหนือ เรียก ห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อย่าง) เนื้อเค็ม หมก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วย ซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ยอด” คือ สตางค์ หรือธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา ส่วนสลากโชคหรือก๋วยใหญ่ สิ่งของที่นำมาบรรจุในก๋วยก็เช่นเดี๋ยวกับสลากก๋วยน้อยแต่มีความพิเศษกว่า คือ จะทำเป็นรูปเรือหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม่อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วยต้นอ้อย ผูกติดไว้ ยอด หรือธนบัตรจะใส่มากกว่าสลากน้อย และก๋วยสลากทุกอันต้องมีเส้นสลาก ที่ทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษตัดเป็นแผ่นยาวๆเขียนชื่อเจ้าของไว้ และยังบอกอีกว่าอุทิศไปให้ใคร ในวันดานี้ จะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจากหมู่บ้านต่างๆ ที่รู้จักมาร่วมทำบุญ โดยการนำเงินหรือผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย ส้มเกลี้ยง ส้มโอ ฯลฯ มาร่วมด้วยและช่วยจัดเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก เจ้าภาพ ต้องเลี้ยงข้าวปลา อาหาร เหล้ายาและขนม ส่วนวันที่ ๒ คือ “วันทานสลาก” ชาวบ้านจะช่วยกันนำสลากที่ทำไว้แล้วไปที่วัด และเอาเส้นสลากทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร นั่งฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ จากนั้น มัคทายกนำเส้นสลากทั้งหมดที่รวมกันไว้แล้วแบ่งออกเป็น ๓ กอง ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (ของวัด) ส่วนอีก ๒ กองนั้นเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากยังมีเหลือจะนำมารวมเป็นของพระเจ้า(วัด)ทั้งหมด